บันไดเลื่อน

บันไดเลื่อน และทางเลื่อน ความรู้ ข้อแนะนำการใช้งาน และข้อสังเกตความผิดปกติ
 
บันไดเลื่อน และทางเลื่อน
ข้อแนะนำการใช้งาน  และข้อสังเกตความผิดปกติ
1. ความรู้เรื่องบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
      บันไดเลื่อน และทางเลื่อน คือ เครื่องจักรกลที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย และไม่มีความซับซ้อน 
มีวัตถุประสงค์เพื่อในการขนส่งคนโดยใช้ขั้นบันไดในการลำเลียงคนจำนวนมากด้วยความเร็วที่เหมาะสม และคงที่
บันไดเลื่อน ถูกคิดค้น ออกแบบ และนำมาใช้ในตั้งแต่ ปี ค.ศ.1900 โดยใช้ชื่อ Escalator 
ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินของคำผสมระหว่าง Elevator และ Scala
สำหรับประเทศไทยใช้บันไดเลื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ที่ห้างสรรพสินค้า ไทยไดมารู ราชประสงค์ฃ
เป็นผู้นำบันไดเลื่อนชุดแรก เข้ามาใช้ เปิดบริการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ปรากฏว่า 
คนกรุงเทพ แห่กันไปใช้บันไดเลื่อนกันอย่างเนืองแน่น มาตรฐานบันไดเลื่อนที่ถือเป็นต้นแบบ และนิยมใช้กันหลายประเทศคือ
·ประเทศแถบยุโรป เป็น กฎความปลอดภัยในการออกแบบ และติดตั้งบันไดเลื่อน และลิฟต์ ตาม BS EN 115 (European Standard BS EN 115 Safety rules for the Construction and Installation Escalators and Passenger Conveyors)
·ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นข้อบังคับสำหรับลิฟต์และบันไดเลื่อนตาม ASME A17.1 (Safety Code for Elevators and Escalators American Standard)
·ประเทศญี่ปุ่น เป็นมาตรฐานการตรวจสอบลิฟต์ บันไดเลื่อน และลิฟต์ส่งของ (Inspection standard of elevator, escalator and dumbwaiter)
·ประเทศไทย โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำมาตรฐานไว้สองเล่ม คือมาตรฐานระบบเครื่องกลขนส่งในอาคาร (เรียบเรียงตาม ASME A17.1) และมาตรฐานระบบลิฟต์ (เรียบเรียงตาม BS EN 115) ทั้งมาตรฐานยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นล้วนมีใช้ในประเทศไทย และอีกหลายประเทศในเอเชีย
 

**** วสท. มีข้อแนะนำสำหรับบันไดเลื่อน และทางเลื่อนดังนี้ ****
ข้อ 1 การจัดซื้อ การติดตั้ง การบำรุงรักษาบันไดเลื่อน และทางเลื่อนจะต้องถูกต้อง และได้มาตรฐานสากล
ข้อ 2 การดูแล และการบำรุงรักษาบันไดเลื่อน และทางเลื่อนต้องเป็นไปตามข้อแนะนำของผู้ผลิต
ข้อ 3 ผู้ใช้งานต้องใช้บันไดเลื่อน และทางเลื่อนอย่างถูกต้อง
ข้อ 4 ให้แนะนำการใช้ปุ่มฉุกเฉินเพื่อหยุดบันไดเลื่อน และทางเลื่อนคามคำแนะนำของผู้ผลิต

2. ส่วนประกอบ และการทำงานของบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
บันไดเลื่อน และทางเลื่อน มีอุปกรณ์หลักคือ
ก. โครงสร้างบันได เป็นโครงสร้างเหล็กที่ออกแบบ และยึดนัตด้วยแรงที่ถูกต้อง
ข. มอเตอร์ และชุดทดรอบ โดยปกติจะทดรอบประมาณ 1.5 ถึง 3 ต่อ 1
ค. จานหลัก และโซ่ขับ ลักษณะคล้ายจาน และโซ่ของจักรยาน
ง. ขั้นบันไดเลื่อน และทางเลื่อนออกแบบให้รับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 300 กิโลกรัมต่อขั้น
หรือประมาณ 750 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยไม่แตก หรือแอ่นตัว
จ. ราวมือจับ ออกแบบให้รับแรงดึงเมื่อขดเป็นวงได้ 2,500 กิโลกรัม โดยไม่ฉีกขาด
ฉ. ตู้ไฟฟ้าควบคุม และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ของบันไดเลื่อน
การทำงานของบันไดเลื่อน การทำงานเริ่มจาก
·มอเตอร์ไฟฟ้าที่ทดรอบให้มีความเร็วตามพิกัด 30 เมตรต่อนาที ทำหน้าที่ขับเพลาที่มีจานเฟืองติดอยู่ให้หมุน (ลักษณะคล้ายจาน และโซ่จักรยาน)
·จานเฟืองนี้จะทำหน้าที่ขับขั้นบันได และราวมือจับไปพร้อม ๆ กัน
·ปลายทั้งสองข้างของขั้นบันไดเลื่อนจะมีล้อหมุนติดอยู่ด้านข้างซ้าย และขวาเพื่อให้ขั้นบันไดเคลื่อนที่ไปตามรางบังคับล้อ ส่วนปลายอีกด้านของขั้นบันไดจะเกี่ยวกับขั้นบันไดเลื่อนขั้นต่อไป และจะเรียงต่อ ๆ กันจนถึงปลายบันได
·จากนั้นขั้นบันไดเลื่อนจะเคลื่อนเข้าไปในบ่อบันไดเลื่อนด้านท้ายของบันได ผ่านจานตัวตามเพื่อหมุนขั้นบันไดกลับ พร้อม ๆ กับราวมือจับที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับบันไดด้วยความเร็วที่เท่ากับบันไดด้วย

3. ขั้นบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
·ขนาดของบันได ขั้นของบันไดเลื่อนจะมีขนาดลูกตั้ง (ประมาณ 35 เซนติเมตร) และลูกนอน (ประมาณ 40 เซนติเมตร) ซึ่งจะกว้างกว่าขั้นบันไดธรรมดาที่ใช้ในการขึ้นลงของอาคาร
·บันไดเลื่อนแต่ละขั้นจะมีล้อหมุนสองชุดติดที่ปลายขั้นบันไดซ้าย และขวา ล้อทั้งคู่ของบันไดจะเคลื่อนที่ไปตามรางบังคับ เพื่อให้ขั้นบันไดสามารถเลื่อนไปบนทางวิ่งของขั้นบันไดที่ออกแบบ
ให้เป็นวงตามความยาว และมุมของบันได เพื่อให้ขั้นบันไดเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากกัน และไม่หลุดจากทางวิ่งของขั้นบันได ทุกขั้นบันไดจึงมีลักษณะเป็นซี่ และร่อง เพื่อให้บันไดทุกขั้นขบกันอย่างต่อเนื่อง
·ความแข็งแรงของขั้นบันไดเลื่อน การทดสอบความแข็งแรงของขั้นบันไดเลื่อนจะใช้น้ำหนัก 300 กิโลกรัมกดลงกลางแผ่นแล้วปล่อยออก ขั้นบันไดเลื่อนจะต้องไม่แตกหัก และแอ่นตัว
จากนั้นจะทดสอบการกระแทกอีกอย่างน้อยห้าล้านครั้งโดยใช้น้ำหนักกด 50 กิโลกรัมสลับกับ 300 กิโลกรัมตรงกลางแผ่นด้วยความถี่ 5 ถึง 20 ครั้งต่อนาที หลังการทดสอบขั้นบันไดเลื่อนจะต้องแอ่นตัวไม่เกินกว่า 4 มิลลิเมตร

4. ชนิด และความสามารถของบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
ความสามารถของบันไดเลื่อน และทางเลื่อนในการขนส่งผู้โดยสาร แปรตามความกว้างของขั้นบันได และความเร็วที่ปกติจะใช้ 30 เมตรต่อนาที (1.80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ตามมาตรฐาน EN 115-1 2008 Annex H กำหนดความสามารถบันไดเลื่อนดังนี้

โดยทั่วไป บันไดเลื่อน และทางเลื่อนจะเลือกใช้ที่ความกว้างของบันได 0.80 เมตร สามารถลำเลียงคนได้ 4,800 คนต่อชั่วโมงยืนแบบหลวม ๆ
กรณีของบันไดเลื่อนจะถูกวางเอียงที่มุม 30 องศา แต่หากมีความจำเป็น หรือข้อจำกัดของสถานที่ บันไดเลื่อนอาจถูกวางมุมเอียงที่ 35 องศา
ทั้งนี้ ที่มุมดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากวิศวกรด้วยความปลอดภัย อีกทั้งบันไดเลื่อนจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 30 เมตรต่อนาที สำหรับการโดยสารทั่วไป
ส่วนการโดยสารในอาคารที่ต้องขนส่งคนจำนวนมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ในรถไฟฟ้าใต้ดิน ความเร็วบันไดอาจเคลื่อนที่ได้กว่า 45 เมตรต่อนาที ส่วนทางเลื่อนจะมีมุมดั้งแต่ 0 – 15 องศา

5. อุปกรณ์ความปลอดภัยเพื่อหยุดการทำงานของบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
บันไดเลื่อน และทางเลื่อนเป็นเครื่องจักรกลที่ออกแบบให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะเป็นเครื่องจักรกลที่ทำงานโดยมีผู้โดยสาร
ดังนั้นผู้ผลิตบันไดเลื่อน และทางเลื่อนจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยไว้ที่จุดต่าง ๆ ของบันไดเลื่อน และทางเลื่อนเพื่อหยุดการทำงานโดยอัตโนมัติ และโดยคน ดังต่อไปนี้
·ราวบันได เกิดการขัดตัว ขาดจากกัน ถูกกระแทกอย่างแรง มีของกีดขวางที่ช่องทางเข้า และออกของราวบันได และเคลื่อนที่เร็วหรือช้ากว่ากำหนด
·โซ่ขับบันได เกิดการขัดตัว ขาดจากกัน และเคลื่อนที่เร็วหรือช้ากว่ากำหนด
·ขั้นบันไดเลื่อน และทางเลื่อน เกิดการขัดตัว ล้อบันไดหลุดจากราง บันไดตกหล่นหายไป ขั้นบันไดเอียง ขั้นบันไดกระดก ถูกกระแทกอย่างแรง
รับน้ำหนักมากกว่าปกติ มีสิ่งของกีดขวางที่ช่องทางเข้า และออกของบันได และเคลื่อนที่เร็ว หรือช้ากว่ากำหนด
·แผ่นพื้นปิดห้องเครื่องบันไดเลื่อน และทางเลื่อนเปิดขณะใช้งาน
·ระบบไฟฟ้าผิดปกติ และใช้ไฟฟ้าเกินขีดจำกัด
·ปุ่มฉุกเฉินเพื่อหยุดบันไดเลื่อน และทางเลื่อน
·กุญแจสำหรับการเปิด และหยุดการใช้งาน

6. ข้อแนะนำการใช้งานบันไดเลื่อนและทางเลื่อน
เครื่องกลในอาคาร เช่นบันไดเลื่อน และทางเลื่อนที่เคลื่อนที่ไปโดยมีผู้โดยสาร จะต้องออกแบบให้ปลอดภัย และสะดวกในการใช้งาน จะต้องง่ายในการเคลื่อนที่ และไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ วสท. มีข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับบันไดเลื่อนดังนี้
6.1 ในการพิจารณาจัดซื้อบันไดเลื่อน และทางเลื่อน ควรพิจารณามาตรฐานสากล โดยปรึกษาวิศวกรที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญ
6.2 ผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ควรดูแลอุปกรณ์ให้ตรงตามคู่มือการใช้งานซึ่งจะแตกต่างกันไป
ตามแต่ละยี่ห้อ โดยจะต้องตรวจเป็นประจำทุกหนึ่งเดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ตัวอย่างการบำรุงรักษาที่ต้องตรวจสอบ คือ ระบบไฟฟ้า น้ำมันหล่อลื่น การสึกหรอของล้อบันไดเลื่อน
และราง ปรับความตึงของโซ่ และราวบันได ตรวจสอบซี่บันได ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมที่ตกหล่นเข้าไปในบันไดเลื่อน ปรับแต่งระยะห่างความปลอดภัยที่ซี่ขั้นบันได ช่องว่างขอบข้างบันได
ช่องว่างทางเข้า และออกของราวบันได ขั้นบันไดกับแผ่นปิดห้องเครื่อง และอุปกรณ์ความปลอดภัยของบันไดเลื่อน
6.3 ข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้งานให้ปลอดภัยมีดังนี้

· จับราวมือจับบันไดเลื่อนด้านหนึ่งด้านใดไว้ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการจับราวมือจับบันไดเลื่อนสองด้าน
· ยืน และวางตำแหน่งเท้าในขั้นบันไดเลื่อนให้มั่นคง อย่ายืนบนจมูกบันไดเลื่อนหรือวางเท้าชิดลูกตั้งบันไดเลื่อนเกินไป
· ยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อน เพื่อเหลือช่องว่างที่ขั้นบันไดเลื่อนกรณีฉุกเฉิน
· ขณะใช้บันไดเลื่อนให้มีสมาธิ และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์สื่อสาร
· ก้าวเดินเข้า และออกจากบันไดเลื่อนตามปกติ อย่าวิ่ง หรือกระโดดข้ามแผ่นพื้นปิดบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน
· ขณะใช้บันไดเลื่อนเด็กเล็กต้องอยู่ในสายตาเสมอ ห้ามเด็กเล็กใช้บันไดเลื่อนโดยลำพัง
· ใช้บันไดเลื่อนให้ถูกทิศทาง
6.4 ข้อห้ามสำหรับผู้ใช้งาน
· ห้ามชะโงกศีรษะ และยื่นแขน ขาออกนอกบันไดเลื่อน
· ห้าม รองเท้าสเก็ต รองเท้าล้อเลื่อน จักรยาน รถเข็นที่ไม่ได้ออกแบบล้อให้ล็อคกับขั้นบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ใช้บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน
· ห้ามสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ชั้นบันไดเลื่อน ต้องอุ้มสัตว์เลี้ยงไว้กับตัวเสมอ
· อย่าเก็บสิ่งของที่ตกหล่นอยู่ที่บันไดเลื่อน
· ห้ามใช้บันไดเลื่อนขนสัมภาระ
· ห้ามรถเข็นเด็กใช้บันไดเลื่อน ต้องพับเก็บและอุ้มเด็กเล็กไว้
· ห้ามเล่นหรือปีนป่ายราวมือจับบันไดเลื่อน
· ห้ามนั่งบนขั้นบันไดเลื่อน
· ห้ามยืนพิงราวมือจับบันไดเลื่อน
· ห้ามวางเท้าชิด เตะหรือใช้เท้าถูขอบข้างบันไดเลื่อน
· ห้ามกระทืบ กระแทกขั้นบันไดเลื่อน และแผ่นปิดบันไดเลื่อน
· ห้ามวิ่งสวนทางกับทิศทางการทำงานของบันไดเลื่อน
· กรณีเกิดไฟไหม้ห้ามใช้บันไดเลื่อน
· ให้กดปุ่มหยุดบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน ในกรณีฉุกเฉิน หรือพบเห็นอุบัติเหตุจากการใช้งานบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน หลังจากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
6.5 ข้อแนะนำสำหรับอาคาร
· ห้ามมีสิ่งปลูกสร้าง วางสิ่งของ หรือติดตั้งเสาขวางบริเวณทางเข้า และออกภายในระยะปลอดภัยของบันไดเลื่อน (ประมาณ 2.50 เมตร) จะต้องเป็นพื้นที่ว่าง
· บริเวณบันไดเลื่อนต้องแห้ง สะอาด ไม่มีขยะ และต้องไม่มีน้ำเจิ่งนอง
· ห้ามทำความสะอาดราวมือจับบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ขั้นบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน และชิ้นส่วนต่าง ๆ ขณะที่บันไดเลื่อน หรือทางเลื่อนทำงาน
· บำรุงรักษา และตรวจสอบความปลอดภัยบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ตามคำแนะนำของผู้ผลิตแต่ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
· ปรับแต่ง ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด สึกหรอตามอายุการใช้งานและตามคำแนะนำของผู้ผลิต
· ก่อนการเปิดใช้งานจะต้องเดินสำรวจตลอดบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อนทุกครั้ง
· จัดให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยประจำปีตามกฎหมาย
6.6 มีข้อความแนะนำ และการปฏิบัติให้กับผู้ใช้บันไดเลื่อน และผู้พบเห็นในการกดปุ่มฉุกเฉิน
เพื่อหยุดบันไดเลื่อนในกรณีที่พบเห็นผู้ใช้งานบนบันไดเลื่อนเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น ผู้ใช้
บันไดเลื่อนถูกขั้นบันไดเลื่อน หรือขอบข้างบันไดเลื่อนหนีบชิ้นส่วนของร่างกาย ทั้งนี้ให้
เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อแนะนำของผู้ผลิต

ข้อแนะนำในการใช้บันไดเลื่อนให้ติดที่บันไดเลื่อนทุกชุด

· บันไดเลื่อนมีเสียงดังผิดปกติและมีร่องรอยชำรุด
· ราวมือจับบันไดเลื่อนไม่ทำงานหรือฉีกขาด ร้อนผิดปกติ กระตุก เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ เคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กับขั้นบันไดเลื่อนหรือเคลื่อนที่ด้านซ้าย และขวาไม่เท่ากัน
· ขั้นบันไดเลื่อนเคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ กระตุกมีเสียงดัง
· ซี่ขั้นบันไดแตก หักมากกว่าสี่ห้าซี่ติดต่อกันในหนึ่งขั้น หรือแตกหักเป็นจำนวนมาก
· ซี่หวีที่แผ่นพื้นปิดห้องเครื่องแตก หักมากกว่าสี่ห้าซี่ติดต่อกัน หรือแตกหักเป็นจำนวนมาก
· ไม่ได้ยึดนัตที่แผ่นพื้นปิดห้องเครื่องให้เรียบร้อย
· มีขยะ สิ่งสกปรก หรือน้ำเจิ่งนองที่บันไดเลื่อน
· ขอบข้างบันไดเลื่อนมีรอยเสียดสีเป็นร่อง ฉีกขาด หรือชำรุด
· ระยะห่างความปลอดภัยทางเข้าออกบันไดเลื่อนน้อยเกินไป
· ความสูงจากขั้นบันไดเลื่อนถึงเพดานน้อยกว่า 2.30 เมตร
· ระยะห่างระหว่างราวมือจับบันไดเลื่อนน้อยกว่า 12 เซนติเมตร
· ระยะห่างระหว่างราวมือจับบันไดเลื่อนกับผนังน้อยกว่า 80 เซนติเมตร
· ระยะห่างระหว่างข้างขอบบันไดเลื่อนกับขั้นบันไดเลื่อนห่าง หรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร
· ระยะห่างระหว่างซี่ของขั้นบันไดเลื่อนที่ขบกันห่าง หรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร
· ระยะห่างระหว่างซี่ของขั้นบันไดเลื่อนกับแผ่นพื้นปิดบันไดเลื่อนที่ขบกันห่างหรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร
· ปุ่มกดฉุกเฉินชำรุด
· มีคราบน้ำมันหล่อลื่นตามขอบข้างบันไดเลื่อน

                                                                                                                                                                               
ภาพและเนื้อหา เครดิต โดย นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย 
ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท.
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
Visitors: 122,357